วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

30 มกราคม 2557

30   มกราคม   2557
วิชา การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษ
EAED 2209 เวลา 15.00 - 17.30  กลุ่มเรียน 102
อาจารย์ตฤณ   แจ่มถิน
กิจกรรมในห้องเรียน
***วันนี้เรียนเรื่องการดูแลรักษาและส่งเสริมพัฒนาการเด็กที่มีความต้องการพิเศษ*** 
5 เรื่องไม่ควรมองข้ามในการดูแล "ลูกคนพิเศษ"
         หากได้ชื่อว่าเป็นพ่อแม่ของเด็กพิเศษ ทุกท่านคงหนีไม่พ้นการรับบทหนักในการดูแลลูกมากกว่าพ่อแม่คนอื่น ๆ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถพัฒนาความสามารถได้เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ได้ด้วยวิธีการปกติตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูตามปกติ หรือการเรียนการสอนตามปกติทั่วไป เนื่องจากข้อจำกัดบางประการที่มีอยู่ในตัวเด็ก ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา พฤติกรรม อารมณ์ หรือสัมพันธภาพทางสังคม ซึ่งการดูแลเด็กกลุ่มนี้ จำเป็นต้องได้รับความเอาใจใส่ และความใกล้ชิดเป็นพิเศษ และคนสำคัญที่จะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้ดีที่สุด ไม่ใช่โรงเรียน หรือใครอื่นใด แต่คือครอบครัวนั่นเอง
      
          "พ่อแม่หลายคนชอบตั้งความหวังกับโรงเรียน แต่กลับไม่เคยให้ความสำคัญกับลูกเวลาอยู่ที่บ้านเลย ยกตัวอย่างให้เห็นภาพจากเด็กที่มาจาก 2 ครอบครัว เริ่มจากครอบครัวแรก เด็กได้รับการดูแลเอาใจใส่ทั้งเวลา ความรัก และความเข้าใจ รวมทั้งพ่อแม่ให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียนเป็นอย่างดี ส่วนอีกครอบครัวหนึ่ง คุณพ่อทำกิจการใหญ่โต ไม่มีเวลาดูแลลูก คุณแม่มีงานสังคมอยู่เรื่อย ๆ ส่วนเด็กอยู่กับคนใช้เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งครูพิเศษที่พ่อแม่จ้างมาสอนที่บ้าน ทั้ง 2 ครอบครัวนี้ เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าพัฒนาการของเด็กทั้ง 2 คนมีความแตกต่างกัน ทั้ง ๆ ที่อาการเริ่มต้นมีความใกล้เคียงกัน ดังนั้น โรงเรียนไม่ใช่เบอร์ 1 ค่ะ ครอบครัวต่างหากที่เป็นเบอร์ 1" ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนเด็กพิเศษเผย
     ดังนั้น คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ครอบครัวมีบทบาทสำคัญที่สุดในการดูแลเด็กพิเศษ แต่ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ บอกว่า การดูแลโดยการให้ความรักอย่างเต็มเปี่ยมอาจยังไม่เพียงพอ คุณพ่อคุณแม่ควรมีความรู้ ความเข้าใจ ประกอบกับมีเจตคติ และทัศนคติที่ถูกต้องด้วย และ 5 เรื่องต่อไปนี้คือสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้ามในการดูแลลูกคนพิเศษ เริ่มจาก
  
มีความมั่นคงทางอารมณ์
คุณพ่อคุณแม่ควรยอมรับให้ได้ก่อนว่า ลูกเป็นเด็กพิเศษ เมื่อยอมรับได้แล้ว สิ่งแรกที่พึงระลึกไว้เสมอก็คือ ความมั่นคงทางอารมณ์ ไม่ทำอะไรผลีผลาม เช่น พยายามควบคุมอารมณ์เมื่อเห็นเด็กคนอื่นกำลังล้อเลียน หรือแกล้งลูก ด้วยการพาลูกเดินออกจากสถานการณ์ตรงนั้น และบอกให้เขาเข้าใจว่า ที่เพื่อนพูดแบบนั้น ถ้าเราไม่ได้เป็น ก็ไม่ควรไปสนใจ หรือถ้าเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นที่โรงเรียน ควรแจ้งคุณครูเพื่อให้ดำเนินการต่อไป ไม่ควรเข้าไปจัดการปัญหาด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้ปัญหาบานปลาย และตัวลูกเองอาจได้รับผลกระทบจากสังคมเพื่อนตามมาได้
       
 ไม่ทิ้งการรักษา
ถ้าได้รับการรักษาจากแพทย์ ไม่ควรทิ้ง หรือขาดช่วงการรักษา ควรติดตามการรักษา และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ซึ่งพ่อแม่หลายคนกังวลเรื่องผลข้างเคียงของการใช้ยาจนลืมมองถึงผลเสียจากการไม่รับประทานยาไป หากเด็กไม่ได้รับการรักษา และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงวัยที่เด็กเข้าสู่สังคมโรงเรียน อาจเกิดปัญหาตามมาได้ โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนในชั้นเรียน แต่การใช้ยาควรใช้ร่วมกับการฝึกทักษะต่างๆ ที่จำเป็นไปพร้อม ๆ กันด้วย เช่น ฝึกวินัย ปรับพฤติกรรม เด็กจึงจะพัฒนาและมีความสามารถที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ดี

 ฝึกเป็นผู้สังเกตการณ์แทนครู
คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยรายงานพฤติกรรม หรือความเป็นไปเกี่ยวกับตัวลูกกับคุณครูที่โรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ครูได้มีข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนาเด็ก และเข้าใจเด็กมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ควรรู้จักรับฟัง พร้อมกับแลกเปลี่ยนกับคุณครูเพื่อนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปพัฒนาลูกให้ถูกทางต่อไป
       
 อย่าเป็นพ่อแม่รังแกฉัน
เมื่อลูกเป็นเด็กพิเศษ คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านพยายามประคมประหงมลูกมากเกินไป หรือพูดง่าย ๆ คือ เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กพิเศษมากเกินไป เช่น ช่วยเหลือลูกทุกอย่างโดยที่เด็กไม่ได้รับการฝึกให้ช่วยเหลือตัวเอง หรือไม่ได้รับการฝึกที่จะยืนได้ด้วยตัวเองเลย เนื่องจากมีพ่อแม่คอยปกป้องอยู่ตลอด เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจทำให้เด็กมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมตามมาได้ ทางที่ดีควรเลี้ยงลูกให้เป็นไปตามธรรมชาติ ปล่อยให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองบ้างในบางเรื่อง อย่างน้อย ๆ เป็นการเพิ่มทักษะให้ลูกได้รู้จักพึ่งพาตัวเอง และยืนได้ด้วยตัวของเขาเอง
       
หากิจกรรมทำร่วมกัน
หลาย ๆ ครอบครัวมุ่งเน้นแต่กิจกรรมนอกบ้าน แต่ไม่ค่อยมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกันในบ้านเลย  วันหยุดเสาร์-อาทิตย์แทนที่จะพาลูกออกไปเรียนตามสถาบันต่าง ๆ ควรมีกิจกรรมในบ้านที่ทำร่วมกันบ้าง เช่น นั่งรับประทานอาหาร อ่านหนังสือ เล่านิทาน หรือพากันไปออกกำลังกายตามสวนสาธารณะใกล้บ้าน เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ นอกจากจะช่วยสานสัมพันธ์รักในครอบครัวแล้ว ยังช่วยให้ลูกมีการพัฒนาความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่ดีขึ้น
      
แน่นอนว่า การได้เห็นลูกมีพัฒนาการเต็มตามศักยภาพที่เขามีอยู่ คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนปรารถนา แต่ระหว่างทางที่ไปสู่จุดหมายนั้น เด็กต้องการเวลา ความรัก และกำลังใจดี ๆ จากพ่อแม่ หากทำได้เช่นนั้น เชื่อเถอะครับว่า จุดหมายปลายทางที่วาดหวังไว้รอคุณอยู่ไม่ไกลนับจากนี้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น